Categories
(TH) Others Scholarship Posts in Thai

5 steps to win Stipendium Hungaricum Scholarship

กลับมาแล้วนะคะ ทางเพื่อนเจ้าของโพสต์ได้ทำการส่งบทความเกี่ยวกับทุนฮังการีมาให้แล้วค่า สำหรับคนที่สนใจสมัครในปีถัดๆ ไปนะคะ

ใครยังไม่ได้อ่านเกี่ยวกับทุนไปอ่านได้ที่นี้ http://taliaroamw.com/2021/11/08/stipendium-hungaricum/

5 ขั้นตอนสุดชิค พิชิตทุนรัฐบาลฮังการี!

Sziasztok! (สวัสดีทุกคน!)

ถึงเวลาสำรวจยุโรปกลางค่อนไปทางตะวันออกกันแล้ว!

วันนี้จะมาแนะนำการสมัครทุนรัฐบาลฮังการีกันนนน 

ตอนนี้เราเรียนระดับปริญญาโทที่ประเทศฮังการีภายใต้ทุนรัฐบาลฮังการีอยู่ค่ะ ตั้งแต่ได้รับทุนจนถึงตอนนี้ก็มาอยู่ที่บูดาเปสต์ได้ 4 เดือนแล้วค่ะ บอกได้เลยว่าการได้มาเรียนที่นี่เป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมมาก ได้ตกหลุมรักบูดาเปสต์และโปรแกรมที่กำลังเรียนเป็นที่เรียบร้อยแล้วค่ะ

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคนที่สนใจทุนฮังการี หรือคนที่กำลังสนใจหาทุนเรียนต่อต่างประเทศนะคะ

มาเริ่มกันเลยค่ะ!

ขั้นที่ 1 มาทำความรู้จักทุนกันเถอะ

เราจะไม่พูดพร่ำทำเพลงมากเรื่องประวัติต่างๆ นะคะ ท่านไหนสนใจคลิกเข้าเว็บไซต์ทุนได้เลยยยย แต่เราจะเข้าเรื่องสิ่งที่จะได้รับจากทุนเลยค่ะ ทุนนี้เป็นทุนให้เปล่านะคะ นั่นหมายความว่าเราไม่ต้องให้เงินคืน แต่อาจจะมีข้อบังคับนิดหน่อยๆ เช่น ห้ามออกจากประเทศฮังการีเกินกี่วันในช่วงเปิดเทอม เป็นต้นค่ะ แต่โดยรวมถือว่าไม่มีอะไรเสียหายกับการได้รับทุนค่ะ 

เริ่มจากสิทธิประโยชน์คร่าวๆ เมื่อได้รับทุนกันเลยดีกว่า น่าจะเป็นสิ่งสำคัญแรกๆ ที่ทุกคนให้ความสนใจ ขออนุญาตแยกเป็นตารางให้เลยนะคะ

ข้อสังเกต

ทุนนี้ไม่ครอบคลุมถึงค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับ หรือค่าตั้งถิ่นฐาน เหมือนทุน Erasmus หรือทุนรัฐบาลบางประเทศนะคะ ต้องจัดการค่าใช้จ่ายเหล่านี้ด้วยตนเอง

ข้อมูลในตารางเป็นข้อมูลบางส่วนนะคะ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของทุนได้เลยค่ะ มีตั้งแต่ที่มาและความสำคัญเลยค่ะ

LINK ABOUT THE SCHOLARSHIP

จากข้อมูลเรื่องค่าใช้จ่ายรายเดือน อาจจะทำให้กังวลอยู่บ้างโดยเฉพาะระดับปริญญาตรีและปริญญาโท แต่ถ้าพิจารณาถึงค่าครองชีพในฮังการี หรือในบูดาเปสต์ซึ่งเป็นเมืองหลวงเองก็ตาม ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในยุโรป ถ้าทำอาหารทานเองก็พอโอเคค่ะ ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้รับการงดเว้นค่าธรรมเนียมการศึกษา เป็นโอกาสที่ดีมากเลยค่ะที่จะได้เพลินเพลินกับการศึกษาเชิงวิชาการพร้อมกับการศึกษาวัฒนธรรมใหม่ๆ และสถานที่เจ๋งๆ ไปด้วยกัน

สำหรับประชาชนจากประเทศโลกที่สามแบบเรา ที่ไม่ได้เป็น EU citizens การได้ไปศึกษาต่อในประเทศสมาชิกอย่างฮังการี จะช่วยให้เราสามารถท่องเที่ยวไปยังประเทศในยุโรป (ยกเว้นประเทศอังกฤษและเครือจักรภพ) ได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าเลยล่ะค่ะ เนื่องจากเราจะได้ residence permit ซึ่งถือว่าได้เป็นประชาชนในประเทศอย่างชั่วคราว

ถ้ายังมีข้อสงสัยทางเว็บไซต์ของทุนก็มีหน้าสำหรับตอบคำถามที่พบบ่อย Q & A ซึ่งเป็นประโยชน์มากๆ นอกจากนี้ยังระเบียบทุนเวอร์ชั่นล่าสุดทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฮังการี ในรูปแบบ pdf ให้ศึกษา

https://stipendiumhungaricum.hu/scholarship-holders/

มาถึงตอนนี้ มาส่องดีกว่าค่ะว่าไทม์ไลน์ของการสมัครทุนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ทุนจะเปิดรับสมัครตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงประมาณกลางเดือนมกราคมในแต่ละปี 

การสมัครจะสมัครผ่านเว็บไซต์ที่ทางทุนกำหนด ผู้สมัครสามารถสร้างบัญชีและกรอกข้อมูลตามรายละเอียดที่ปรากฏพร้อมกับสามารถค้นหาโปรแกรมการเรียนที่สนใจได้ในบัญชีเดียวกัน รายละเอียดและข้อมูลล่าสุดจะแจ้งผ่านทางบัญชีที่สร้างขึ้นและอีเมลล์ที่แจ้งในบัญชี ดังนั้นต้องคอยอัพเดตอยู่เสมอนะคะ

ไทม์ไลน์จากทางทุนสามารถเชื่อถือได้นะคะ แต่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือล่าช้าโดยเฉพาะในช่วงโควิด อดทนรอนิดนึงนะคะถ้ามีบางอย่างล่าช้า

Tip – ถ้าหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมที่อาจจะหาอ่านไม่ได้จากเว็บทางการของทุน สามารถเข้าร่วมโซเชียลมีเดียที่สร้างขึ้นเพื่อพูดคุยเรื่องทุนโดยเฉพาะได้เลยนะคะ มีทั้งกลุ่มของประเทศไทยเองและกลุ่มทั่วโลก มีทั้งกลุ่มทางเฟสบุ๊คและกลุ่มแชท ในกลุ่มจะมีทั้งคนที่ได้รับทุนแล้ว หรือคนที่เคยได้รับทุน ซึ่งจะมีข้อมูลวงในที่เป็นประโยชน์ให้ติดตามกัน จะเข้าไปเพื่ออัพเตตข้อมูล หรือเมื่อมีคำถามก็สามารถโพสต์ถามได้ค่ะ คิดว่าสามารถช่วยให้อุ่นใจได้ในระดับนึงเลยค่ะ ส่วนกลุ่มดังกล่าวนั้นคิดว่าสามารถค้นหากลุ่มชื่อทุนแล้วขอเข้าร่วมได้เลยนะคะ

ขั้นที่ 2 เตรียมตัวเตรียมใจ เตรียมเอกสาร

    แน่นอนว่าสมัครทุน ถึงจะสมัครผ่านออนไลน์ก็ตาม ก็จะมีรายการเอกสารมากมายให้อัปโหลด ก่อนกรอกข้อมูลสมัคร ถ้ามีเอกสารเหล่านี้เตรียมพร้อมไว้ก็จะทำให้การสมัครราบรื่นขึ้นค่ะ

1. หนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุ

หนังสือเดินทางควรมีระยะเวลาเหลืออย่างน้อย 2 ปีก่อนถึงวันหมดอายุ ในกรณีปริญญาโทนะคะ ถ้ายิ่งมีเวลาเหลือมากก็จะยิ่งดี เพราะถ้าได้ทุนแล้วอยู่ต่างประเทศการขอหนังสือเดินทางใหม่อาจจะค่อนข้างยุ่งยาก ส่วนใครที่ยังไม่ได้ทำหนังสือเดินทางไว้ ให้ทำไว้ได้เลยนะคะ เตรียมออกประเทศกัน

2. เอกสารการศึกษา

    – เอกสารจบการศึกษา หรือ degree certificate

    – ใบแสดงผลการเรียน หรือ transcript

(ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสำหรับสมัครระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาตรีสำหรับสมัครปริญญาโท)

    ในกรณีที่เอกสารต้นฉบับไม่ได้เป็นภาษาอังกฤษ ต้องมีทั้งเอกสารภาษาต้นฉบับและเอกสารแปลภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการนะคะ ไม่จำเป็นต้องแปลเป็นภาษาฮังการีแต่จะแปลไว้ก็แล้วแต่ความต้องการค่ะๆ ไม่ได้บังคับในส่วนนี้ แค่ภาษาอังกฤษก็เพียงพอแล้ว

Tip – แม้ในตอนแรกจะไม่ได้เขียนบอกไว้ว่าเอกสารการศึกษาทั้งใบจบและใบเกรดต้องได้รับการรับรองจากกงสุลไทยและกงสุลฮังการี แต่เราแนะนำให้ไปรับรองไว้ทั้งสองที่ก็จะดีนะคะ เนื่องจากบางมหาวิทยาลัยจะร้องขอก่อนที่จะให้จดหมายเข้ารับศึกษาต่อ ถ้าทำไว้ไม่เสียหายแน่นอนค่ะจะช่วยให้ประหยัดเวลาและพลังงานเราค่อนข้างเยอะเลยในการดำเนินการขั้นต่อไป และจะได้ไม่ต้องกังวลเมื่อเราอยู่ต่างประเทศ เพราะการทำเรื่องรับรองเอกสารที่ต่างประเทศก็ค่อนข้างยุ่งยากเช่นเดียวกันค่ะ

3. Motivation Letter

    อ้างอิงจากปีที่เราสมัคร เราไม่ได้เขียนแยกแล้วแนบเอกสารในเว็บนะคะ แต่ตอนกรอกข้อมูลจะมีช่องให้เราพิมพ์ในส่วนนี้แทนค่ะ แน่นอนค่ะว่าต้องเขียนเตรียมไว้ก่อน เพื่อความราบรื่นของตัวจดหมาย และรวดเร็วตอนกรอกข้อมูล ในช่องที่กรอกจะกำหนดให้แค่ประมาณ 700 คำนะคะ ที่จริงเขาเขียนว่าห้ามเกิน 4000 อักษรแต่เราเข้าใจผิดว่าเป็นคำ เลยเขียนยาวมาก แต่พอเอาไปใส่ในช่องที่กำหนด ช่องจะตัดตัวอักษรที่เกินไปเลยค่ะ เราต้องมานั่งตัดๆ เขียนๆ ใหม่อีกรอบ ดังนั้นอย่าเหมือนเรานะคะ อ่านตรงหัวข้อให้ละเอียดๆ เลยนะคะ

Tip – ในคำอธิบายจะมีรายการคำถามเขียนอยู่นะคะ พยายามเรียบเรียงคำตอบของคำถามนั้นในจดหมายของเราควบคู่กับการบอกเล่าคุณสมบัติและหัวข้อที่สนใจศึกษา ส่วนนี้น่าจะมีผลค่อนข้างมากในการคัดเลือกรอบแรกค่ะ เพราะถ้าหากเราไม่ตอบคำถามเลย บางประเทศที่มีสัมภาษณ์รอบแรกจะถามคำถามเหล่านี้กับเราค่ะ แต่สบายใจนิดนึงตรงที่ว่าจากปีที่ผ่านๆมาของประเทศไทยไม่มีสัมภาษณ์รอบแรกค่ะ จะดูจากเอกสารล้วนๆ แต่เขียนไว้ก็จะยิ่งส่งเสริมให้จดหมายเรามีความเกี่ยวข้องกับประเทศปลายทางมากขึ้น แสดงถึงความสนใจและใส่ใจต่อประเทศที่เราต้องการไปศึกษาต่อค่ะ 

4. จดหมายแนะนำ หรือ Recommendation Letter

เตรียมจดหมายแนะนำไว้อย่างน้อย 2 ฉบับจากอาจารย์ในสถาบันที่จบการศึกษา หรือใครทำงานจากที่ทำงานก็ได้ค่ะ แต่แนะนำว่าเป็นจดหมายจากแวดวงวิชาการก็ดูดีนะคะ สำหรับใครที่อาจจะสมัครหลายทุน ไม่ต้องระบุโปรแกรมหรือมหาวิทยาลัยที่จะสมัครเรียนก็ได้ค่ะ แต่ถ้าใครอยากให้เจาะจงก็ลองคุยกับอาจารย์ได้ค่ะ 

บางทุนจะไม่ให้เราไปขอเอง แต่จะให้เรากรอกข้อมูล referee ของเราแล้วเขาจะดำเนินการเองอย่างเป็นความลับ แต่สำหรับทุนนี้เราสามารถไปขอเองไว้ก่อนได้ค่ะ แล้วนำมาอัปโหลดในเว็บไซต์ มีไว้ก่อนจะอุ่นใจมากๆเลยค่ะ จะทำให้กระบวนการสมัครของเราเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว

5. ใบรับรองผลทดสอบความสามารถทางภาษา

    ถ้าหากสมัครโปรแกรมที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ สามารถเช็ค requirement จากโปรแกรมที่เราสมัครได้เลยค่ะ โดยทั่วไปแล้วโปรแกรมที่สอนเป็นภาษาอังกฤษของประเทศฮังการีก็ประมาณ IELST 5.5 หรือ 6.5 เป็นต้นไป และมหาวิทยาลัยส่วนมากรับทั้ง IELTS และ TOEFL ส่วนการทดสอบระดับภาษาหรือข้อยกเว้นอื่นๆ สามารถศึกษาได้จากข้อมูลของแต่ละโปรแกรมในเว็บสมัครได้เลยค่ะ ไม่ต้องค้นหาแยกมหาวิทยาลัยก็ได้ข้อมูลจากในเว็บสมัครค่อนข้างละเอียดเลยค่ะ 

    หากสมัครเรียนในโปรแกรมที่สอนเป็นภาษาฮังการีอาจจะต้องแสดงผลทดสอบภาษาฮังการีอย่างน้อยระดับกลางหรือระดับสูง หรือ ระดับ B2 เป็นต้นไป แต่เพื่อความมั่นใจต้องเช็คจากโปรแกรมอย่างละเอียดอีกทีค่ะ 

6. เอกสารรับรองการตรวจสุขภาพ

    ก่อนปี 2019 การอัปโหลดเอกสารนี้ไม่ได้บังคับนะคะ ขึ้นอยู่กับโปรแกรมที่จะไปเรียน เช่น โปรแกรมเกี่ยวกับสายสุขภาพหรือกีฬา อย่างไรก็ตามหลังเกิดการระบาดของโควิด ทุกโปรแกรมต้องการให้ผู้สมัครแสดงเอกสารนี้ด้วยค่ะ และหลังจากได้รับการคัดเลือกรอบแรกและรอบที่สองก็จะมีฟอร์มเอกสารตรวจสุขภาพภาคบังคับมาค่ะ ต้องใช้ฟอร์มนี้เท่านั้นนะคะ จะมีพวกวัคซีนต่างๆที่เราจำเป็นต้องฉีด ถ้ายังไม่ตรวจสุขภาพก็สามารถไปฉีดวัคซีนเตรียมไว้เลยได้นะคะ ดีกับสุขภาพเราเองด้วย ส่วนมากวัคซีนสามารถฉีดได้ครบที่สภากาชาดสถานเสาวภาเลยค่ะ 

    แบบฟอร์มเอกสารรับรองการตรวจสุขภาพ  

เอกสารที่กล่าวถึงข้างต้น เป็นเพียงส่วนนึงซึ่งถ้าเราเตรียมไว้จะช่วยทำให้เราเหนื่อยเรื่องเอกสารน้อยลงมากเลยค่ะ แต่ยังมีเอกสารอื่นๆ ที่ทางทุนกำหนดไว้อีกนะคะ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่เลยค่ะ https://stipendiumhungaricum.hu/apply/ หรือเช็คลิสต์ที่นี่

ขั้นที่ 3 โปรแกรมที่ใช่ มหาวิทยาลัยที่ชอบ

สำหรับทุนรัฐบาลฮังการีนะคะ ไม่จำเป็นต้องสมัครมหาวิทยาลัยและสมัครทุนแยกกันนะคะ ถ้าสมัครแยกแล้วจะไม่สามารถสมัครขอรับทุนรัฐบาลภายหลังได้นะคะ อ้าว แล้วต้องเลือกมหาวิทยาลัยตอนไหน อาจจะมีคำถามเกิดขึ้น อย่างที่เคยกล่าวถึงในขั้นที่ผ่านมาคร่าวๆ แล้วว่าเราสามารถเลือกมหาวิทยาลัยและโปรแกรมที่สนใจได้จากเว็บไซต์ที่ใช้สมัครเลยค่ะ โดยสามารถค้นหาข้อมูลโปรแกรมและมหาวิทยาลัยที่สนใจได้ในเว็บเดียวกัน หรือถ้าใครยังไม่สร้างบัญชีก็สามารถไปสำรวจโปรแกรมที่สนใจได้ที่ Study Finder ที่นี่เลยค่ะ โดยจะบอกทั้งภาพรวมหลักสูตร ข้อมูลติดต่อมหาวิทยาลัยหรือผู้ประสานงาน ไปจนถึงคุณสมบัติผู้สมัคร หากใครอยากเปลี่ยนสายก็สามารถเช็คความเป็นไปได้ของโปรแกรมที่เคยจบมาได้จากข้อมูลเลยค่ะ

สำหรับจำนวนโปรแกรมที่สามารถเลือกสมัครได้ ผู้สมัครสามารถเลือกโปรแกรมได้ 2 โปรแกรม การเรียงลำดับก็ตามปกติเลยค่ะ ถ้าสนใจโปรแกรมใดมากที่สุดให้เลือกเป็นลำดับหนึ่ง และอีกโปรแกรมนึงก็เลือกเป็นลำดับสอง ใครจะเลือกเพียงโปรแกรมเดียวก็สามารถทำได้ค่ะ แต่มีข้อควรระวังนิดนึง บางท่านอาจจะยังไม่ได้ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโปรแกรมมากพอ จนอาจทำให้การเลือกลำดับสับสน ตรงนี้ต้องระวังเลยนะคะ เพราะส่วนมากแล้วถ้าผ่านรอบมหาวิทยาลัยทั้งสองอันดับ และได้รับการเสนอทุนจากมหาวิทยาลัยอันดับแรก มีแนวโน้มที่จะไม่ได้รับการเสนอทุนจากมหาวิทยาลัยลำดับที่สองค่ะ จะมาเปลี่ยนใจตอนนี้ก็ไม่ทันแล้วนะคะ

อย่างไรก็ตาม หากผู้สมัครท่านใดได้รับการตอบรับเข้าศึกษาจากมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้รับการเสนอทุน ใน application ของเว็บสมัคร เราสามารถแสดงความประสงค์ได้ค่ะว่าแม้จะไม่ได้รับการเสนอทุน แต่ต้องการที่จะเข้ารับการศึกษาด้วยทุนทรัพย์ตนเองก็สามารถทำได้ค่ะ     

Tip –  บางมหาวิทยาลัยจะมีจังหวะการดำเนินงานเป็นของตนเอง นั่นคือ บางมหาวิทยาลัยจะใช้เวลาค่อนข้างนานในแต่ละขั้นตอน ถ้ายังไม่มีมหาวิทยาลัยในดวงใจ ก็ลองหาข้อมูลมหาวิทยาลัยจากกลุ่มทุนหรือกลุ่มอื่นที่เกี่ยวข้องว่ามหาวิทยาลัยนั้น ๆ ดำเนินงานเป็นอย่างไร จะมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการตัดสินใจ หรือข้อมูลให้ได้เตรียมตัวเตรียมใจกับสิง่ที่จะเกิดขึ้นถ้าเราเลือกมหาวิทยาลัยนั้นๆ 

ขั้นที่ 4 เข้าเว็บไซต์ไปสมัครกัน!

    หลังจากที่ศึกษาข้อมูลทุน เตรียมเอกสารที่จำเป็น และศึกษาข้อมูลโปรแกรมที่ใช่มหาวิทยาลัยที่ต้องการแล้ว ก็ถึงเวลาลงสนามกันแล้วค่ะ!

อย่างที่ได้กล่าวไปในขั้นแรกว่าเดดไลน์ในการส่งใบสมัครประมาณกลางเดือนมกราคม หรือส่วนมากวันที่ 15 มกราคมในไทม์โซนที่ฮังการีใช้นั่นคือ CET (Central European Time) ซึ่งจะช้ากว่าเวลาที่ประเทศไทย 5 ชั่วโมงโดยทั่วไป แต่สำหรับฤดูหนาวหรือช่วงเดือนมกราคมจะช้ากว่าเวลาประเทศไทย 6 ชั่วโมงค่ะ เข้าไปเช็คในเว็บไซต์ทุนดีๆนะคะ ทางที่ดีคือส่งก่อนเดดไลน์แน่นอนที่สุดค่ะ 

    ข่าวดีคือเราไม่จำเป็นต้องกรอกทุกอย่างรวดเดียวแล้วส่ง ผู้สมัครสามารถสร้างบัญชีและค่อยๆ อัปเดตข้อมูลและเอกสารจากนั้นบันทึกไว้ ก่อนที่จะกดส่งใบสมัครค่ะ ซึ่งตรงนี้ต้องระวังเลยว่าให้กด save ถ้าจะบันทึก เมื่อกด submit แล้วจะไม่สามารถแก้ไขใบสมัครได้ (นอกจากผ่านรอบคัดเลือกต่างๆ แล้วระบบเปิดให้แก้ไข) และอย่าลืมเมื่อข้อมูลพร้อม เอกสารพร้อม ใจพร้อมต้องกด submit ด้วยนะคะ!

           ตอนแรกคิดว่าจะเขียนถึงขั้นตอนสำคัญใจการกรอกข้อมูล แต่หลังจากค้นหาข้อมูลก็ไปเจอเอกสารแนะนำการสัมครของทางทุนที่ละเอียดมากๆๆๆ (เนื่องจากตอนเราสมัครเราเร่งรีบมาก เลยไม่ได้ไปเจอข้อมูลนี้ค่ะ) เราก็เลยขออนุญาตแปะไกด์ให้เลย และนอกจากนี้ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำในการกรอกข้อมูลด้วยนะคะ

Useful guide book from the official website

Dos and Don’ts  

    ส่วนท่านใดอาจจะสับสนว่าต้องสมัครเว็บไหน เนื่องจากเว็บที่ให้ข้อมูลกับเว็บที่สมัครแตกต่างกันนิดหน่อยค่ะ เราเลยแปะเว็บ application หรือเว็บใบสมัครไว้ด้วย

Tip – ตอนกรอกอีเมลที่ใช้ติดต่อ แนะนำให้ตรวจสอบความถูกต้องของการสะกดและใช้อีเมลที่เข้าไปเช็คบ่อยๆ นะคะ เนื่องจากข้อมูลอะไรใหม่ๆ หรือ การประกาศผลต่างๆ จะถูกส่งผ่านอีเมลที่กรอกในใบสมัครค่ะ และอย่าลืมเช็คอีเมลขยะด้วยนะคะจะได้ไม่ตกหล่น อันที่จริงคือทางทุนจะส่งไปทั้งสองที่เลย คืออีเมลของเราและในบัญชีของเว็บไซต์ค่ะ สะดวกเช็คช่องทางไหน เข้าไปเช็คบ่อยๆ ได้เลยไม่เสียหายค่ะ

ขั้นที่ 5 เตรียมพร้อมขั้นตอนต่อไปและอดทนไว้นะทุกคน!

    กระบวนการคัดเลือกจะมี 3 รอบใหญ่ ๆ นะคะ ได้แก่

1. รอบคัดเลือกจาก sending partner (28 กุมภาพันธ์ – 15 มีนาคม)

    รอบนี้จะเป็นรอบแรกหลังจากหมดเขตสมัคร อาจจะสงสัยกันว่า ‘sending partner’ คืออะไร คือใคร ทำอะไร ตามความเข้าใจเรานะคะ sending partner จะเป็นสถานทูตประเทศฮังการีที่ดูแลเรื่องทุนในประเทศหรือภูมิภาคต่างๆ โดยการคัดเลือกในรอบนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่ส่วนมากก็เป็นการตรวจสอบเอกสารและคุณสมบัติขั้นพื้นฐานค่ะ อย่างเช่นของประเทศไทย จะคัดเลือกจากเอกสารโดยไม่มีการสัมภาษณ์เพิ่มเติม (ในปี 2021 นะคะ แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงหลังจากนี้) ในขณะที่บางประเทศ เช่น ประเทศตุรกี จะมีการสัมภาษณ์โดย sending partner ด้วยค่ะ ส่วนมากเป็นคำถามเกี่ยวกับประเทศฮังการีไม่ค่อยเกี่ยวกับโปรแกรมการเรียนมากเท่าไหร่นัก  

    ทุนรัฐบาลฮังการีนี้อาจจะไม่ได้ available ในทุกประเทศ แต่ประเทศไทยอยู่ในรายการนะคะ แต่ใครอยากเช็ตเพิ่มเติม สามารถเช็คได้ที่นี่

    รอบนี้ถ้าผ่านหรือไม่ผ่านยังไงจะมีอีเมลแจ้งมาค่ะ หมดกังวลเรื่องที่จะโดนลอยคอปล่อยให้รอด้วยความหวังนะคะ

2. รอบคัดเลือกจากมหาวิทยาลัยที่เราสมัคร (มีนาคม – พฤษภาคม)

         หลังจากเราผ่านรอบแรกด้วยการชนะใจ sending partner แล้วนะคะ ข้อมูลหรือโปรไฟล์ของเราจะถูกส่งต่อไปยังมหาวิทยาลัยที่เราสมัคร มหาวิทยาลัยจะตรวจสอบเอกสารเรา และจะติดต่อเรามาโดยตรงผ่านอีเมลที่เรากรอกไว้เพื่อแจ้งวันและเวลาที่จะจัดการสอบข้อเขียนและ/หรือการสอบสัมภาณษ์ ขึ้นอยู่กับโปรแกรมและขั้นตอนของมหาวิทยาลัย โดยการสอบข้อเขียนและการสอบสัมภาษณ์จะจัดขึ้นออนไลน์เนื่องจากมีผู้สมัครจากทั่วโลก รอบนี้ก็เข้าไปเช็คอีเมลบ่อยๆ นะคะ โดยวันและเวลาอาจจะต่างกันแล้วแต่มหาวิทยาลัย ถ้ายังไม่ได้อีเมลแจ้งและยังคงอยู่ในช่วงเดือนเหล่านี้ ก็ใจเย็นนิดนึงนะคะ

        หลังจากมหาวิทยาลัยตรวจสอบคุณสมบัติของเราเรียนร้อยแล้ว ก็จะส่งอีเมลมายืนยัน และสถานะในเว็บไซต์ของโปรไฟล์เราก็จะเปลี่ยนด้วยค่ะ ถ้าผ่านรอบนี้จะขึ้นเป็น ‘HEI: acceptable’ หรือ ‘HEI: conditionally acceptable’ ซึ่งถ้าใครได้แบบหลังก็อย่าเพิ่งตกใจไปนะคะ ถือว่าผ่านการคัดเลือกแล้วค่ะแต่อาจจะมีเอกสารบางอย่างที่มหาวิทยาลัยต้องการจากเรา ให้ติดต่อกับทางมหาวิทยาลัยนะคะ

    ระหว่างรอบนี้ผู้สมัครที่ผานการคัดเลือกจำเป็นต้องอัปโหลดเอกสารผลตรวจสุขภาพและเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะยืนยันความต้องการที่จะได้รับทุนค่ะ

3. รอบคัดเลือกจากทุนรัฐบาลฮังการี (พฤษภาคม – มิถุนายน)

    หลังจากที่ได้รับการยืนยันจากมหาวิทยาลัย และเราได้อัปโหลดเอกสารที่จำเป็นเพิ่มเติมแล้ว ตอนนี้ก็รอผลการเสนอทุนค่ะ ถ้าผ่านถึงขั้นนี้แล้วโอกาสได้รับการเสนอทุนค่อนข้างจะร้อยละเก้าสิบเลยนะคะ ถึงบางทีจะต้องรอค่อนข้างนานจนทำให้เราสับสนวุ่นวาย แต่ใจเย็นและอดทนไว้นะคะ ไม่เกินมิถุนายนจะทราบผลค่ะ

    ถ้าได้รับการเสนอทุน สถานะในโปรไฟล์เราจะขึ้นว่า ‘Scholarship awarded’ แต่ก็อาจจะได้รับสถานะ ‘Conditionally awarded’ ซึ่งใช่ค่ะ ติดเงื่อนไขอะไรอีกแล้ว อันนี้ก็ไม่ต้องตื่นตระหนกนะคะ เพราะเราก็ได้สถานะนี้ สิ่งที่ต้องทำคือติดต่อกับทางมหาวิทยาลัยว่าเขาต้องการให้เราเติมเต็มส่วนไหน ถ้าเราทำเรียบร้อยก็ได้รับการเสนอทุนเช่นกันค่ะ 

    เมื่อได้รับสถานะนั้น สิ่งที่ต้องทำเลยคือยืนยันการรับทุนค่ะ ซึ่งต้องกดยืนยันในโปรไฟล์ของเราภายในเวลาที่กำหนด ทุนจะแนะนำให้เรากดรับให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากถ้าสมมติเราปฏิเสธทุนจากมหาวิทยาลัยแรกแล้ว แนวโน้มที่เราจะได้รับการเสนอทุนจากมหาวิทยาลัยลำดับที่สองจะไม่แน่นอนเลยค่ะ อย่างที่เคยบอกในขั้นเลือกโปรแกรมว่าให้ตัดสินใจเรียงลำดับอย่างระมัดระวัง

    หลังจากผ่านรอบสุดท้ายและเราอัปโหลดเอกสารจำเป็นเรียบร้อยแล้ว เราจะได้จดหมายรับเข้าศึกษาต่อ หรือ ‘letter of acceptance’ จากมหาวิทยาลัย ซึ่งจะตามมาด้วยจดหมายการได้รับทุน หรือ ‘letter of award’ โดยถ้ายังไม่ได้จดหมายรับเข้าศึกษาจากมหาวิทยาลัยก็จะยังไม่ได้จดหมายจากทางทุนค่ะ ดังนั้นต้องดีลกับมหาวิทยาลัยให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เอกสารทั้งสองและเอกสารอื่นๆ จากมหาวิทยาลัยจะเป็นส่วนสำคัญของการสมัครขอรับวีซ่าของเรา ยิ่งครบเร็วก็จะยิ่งดีค่ะ เพราะการยื่นขอวีซ่าค่อนข้างใช้เวลา

    มาถึงขั้นนี้ก็เก่งมากเลยค่ะทุกคน!!!

อันที่จริงกระบวนการหลังจากนี้ การยื่นขอวีซ่าและขั้นตอนอื่น ๆ ยังทำให้หัวหมุนพอสมควรเลยค่ะ แต่อย่างน้อยมาถึงจุดนี้เราก็แน่ใจแล้วว่าเราได้รับทุน!

มาสรุป 5 ขั้นกันอีกรอบนะคะ

  1. ศึกษาสิทธิประโยชน์ และข้อจำกัดของทุนเพื่อเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะด้านงบประมาณ
  2. ศึกษาเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการสมัคร และเตรียมเอกสารจำเป็นล่วงหน้าให้พร้อมมากที่สุด
  3. ศึกษาโปรแกรมและมหาวิทยาลัยที่สนใจ เพื่อตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด
  4. ลงสนามสมัครทางเว็บไซต์ กรอกทุกอย่างให้สมบูรณ์ที่สุด
  5. เตรียมตัวให้พร้อมกับขั้นตอนต่างๆ หลังจากส่งใบสมัคร

ก่อนจบบทความนะคะ อยากแบ่งปันถ้อยคำให้กำลังใจค่ะ

มีคำกล่าวที่ว่า…

>>>รู้หมื่อไร่ อะไรดีกว่าการมี relationship<<<

คำตอบก็คือ การมี scholarship ยังไงล่ะคะทุกคน! 

(แน่นอนค่ะ ใครได้ทั้งคู่ก็สุดปังไปเลยค่ะพี่สาว!) 

ขอให้ทุกคนสมหวังนะคะ!!!

Advertisement

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s